2557/04/10

Japan Design 4) การออกแบบจัดสวนของญี่ปุ่น


การออกแบบจัดสวนของญี่ปุ่น "Japanese gardens design" 
(日本庭園 ,nihon teien)

ประเทศญี่ปุ่น มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รูปแบบของสวนของญี่ปุ่นนั้น
ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ตามสภาพสังคม และอิทธิพลจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน
ร่วมด้วย สภาพภูมิประเทศ ผนวกกับความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ ศาสนาชินโต
จากศาสนาพุทธ และลัทธิเซน ที่เคารพในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ที่นำมาชึ่งแนวคิด ในศิลปะการในการออกแบบจัดสวนของญี่ปุ่น
ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้สวนญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ และลุ่มลึกไปด้วยปรัชญา
สวนญี่ปุ่น เป็นพื้นที่ของความมีสมาธิไม่เร่งรีบ ความรู้ และ ปรัชญาทางศาสนา
เป็นพื้นที่ ที่เรียกได้ว่ามีครบในทุกหลักการ ของ "วาบิ ซาบิ" ของชาวญี่ปุ่น
การจัดสวนของญี่ปุ่น เป็นงานศิลปะที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในการเป็นตัวแทน
การใช้ ก้อนหิน ต้นไม้ และ น้ำ จึงล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นของสวนญี่ปุ่นนั้นมีกำเนิดมาจากวัด เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสวนจีน
และสวนญี่ปุ่นนั้นได้รับอิทธิพลมาจากสวนจีน พร้อมๆกับการเข้ามาของ ศาสนาพุทธ
(ศาสนาพุทธนั้นเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1)
และอิทธิพลที่มาพร้อมแนวความคิดในการสร้างสวน ให้เป็นแดนสวรรค์ ของสวนจีน
ซึ่งสวนของจีน จะมีลักษณะเป็นตัวแทน (Representation)
สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ อาทิเช่น ภูเขา น้ำตก ฯลฯ
แต่ด้วยลักษณะของภูมิประเทศของญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยภูเขามากมาย
จึงเป็นข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ที่จะสร้างสวนที่เป็นแดนสวรรค์ ตามแบบของจีน
จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องสร้างสวนที่มีขนาดย่อมลงมา และเน้นการชมสวนจากภายในห้อง
โดยยังคงมีองค์ประกอบสำคัญคือ สระน้ำและเกาะแก่ง พืชพรรณและองค์ประกอบต่างๆ
ที่เป็นสัญญลักษณ์ ที่สื่อถึง "ดินแดนสวรรค์"
สวนญี่ปุ่น ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์ต่อธรรมชาติ
การให้ความรู้สึกของความงาม และ เรียบง่ายแต่ว่าสวยงาม

รูปแบบหลัก ของสวนญี่ปุ่นนั้นจะมีสามแบบ คือ
Tsukiyama (สวนเนินเขา), Karesansui (สวนเซน), และ Chaniwa (สวนน้ำชา)

Tsukiyama (สวนเนินเขา) 
เป็นตัวแทนของภูเขาไฟ ฟูจิ โดยสไตล์ของสวน Tsukiyama จะถูกจัดให้แสดงในธรรมชาติ
มีองค์ประกอบของ ภูเขา บ่อน้ำ และลำธาร ฯลฯ


Karesansui (สวนเซน)
(枯山水; คะเระซันซุย ที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ  "zen garden")

ในช่วงศตวรรษที่ 8-12 วัดในญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ จะเป็นวัดในลัทธิชินโต
มีลานกรวด ที่แสดงถึงความเป็นพื้นที่ของความสงบ
และจะมีสถาปัตยกรรมที่คล้ายกันกับ สถาปัตยกรรมในประเทศจีน
จากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองบ้านเมือง
ได้ตกไปอยู่ในมือของ ตระกูลฟุจิวะระ และได้กลายเป็นสิ่งล่อใจสำหรับตระกูลนักรบ
ที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในช่วงปลายยุคได้แก่ ตระกูลมินะโมะโตะ และไทระ
ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจักรพรรดิองค์ก่อนๆ
ทั้งสองตระกูล ตระกูลมินะโมะโตะและไทระได้ต่อสู้ในการรบที่โด่งดังที่สุด
และมีความรุนแรงมากในยุคกลางอันวุ่นวายสับสนของญี่ปุ่น
ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงของความสับสนวุ่นวายของญี่ปุ่น
พระในศาสนาพุทธนิกายเซน ได้เข้ามามีบทบาท ในการสร้างสวนแบบนามธรรม
เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ ความหลุดพ้น นั่นคือที่มาของ สวนเซนญี่ปุ่น ( Dry Garden : kare sansui)
เป็นสวนที่มีลักษณะ เป็นสัญลักษณ์ให้รำลึกถึง
ผู้ที่ชมจะต้องใช้ความคิด และจินตนาการ ประกอบการรับรู้ที่สั่งสมมา
สวนเซนญี่ปุ่น เป็นการเสนอแนวคิดในเชิงนามธรรม
สวนเซน เป็นสวนแบบเรียบง่าย น้อยเท่าที่จำเป็น
เป็นรูปแบบของการพัฒนาสวนในยุค Muromachi ยุคที่นิกายเซนเฟื่องฟู

สวนเซนเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น 'สวนแห้ง' หรือ 'สวนหิน
คำภาษาญี่ปุ่นเป็น karesansui
(枯山水; คะเระซันซุย ที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ  "zen garden")
สวนคะเระซันซุย เป็นภูมิทัศน์แบบแห้ง ที่ต่างออกไปจากสวนตามประเพณี
สวนคะเระซันซุยจะไม่มีธาติน้ำใดๆ พืชพันธุ์ที่มีชีวิตจะมีอยู่ให้น้อยที่สุด
อาจจะมีตะไคร่น้ำ หรือพืชขนาดเล็ก โดยสีเขียวของพืชพันธุ์อาจจะถูกจัดให้บดบังไว้ด้วยหิน
สวนคะเระซันซุยจะใช้หิน กรวด และทรายสีขาว และสีดำ
ในการสร้างสวนเพื่อสื่อถึงดินแดนในอุดมคติ
โดยใช้แนวทางการลดทอนรายละเอียดต่างๆ จนเหลือแต่แก่นแท้ของสวนนั้น

การจัดกลุ่มที่สามารถทำได้ทั้งแบบสุ่ม
หรือในรูปแบบประเพณี ในขณะที่หินเป็นตัวแทนของภูเขา
ทรายกรวดและจัดตำแหน่งในรูปแบบระมัดระวัง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำ
จะมีการปูกรวดหรือทราย โดยใช้หิน กรวด และทรายสีขาว และสีดำ
ซึ่งหินหรือทราย อาจถูกกวาดเป็นลวดลาย ให้เป็นสัญลักษณ์ของทะเล,
มหาสมุทร, แม่น้ำ หรือ ทะเลสาบ จะกวาดให้มองเห็น เป็นภาพลวงตาของน้ำไหล
อีกทั้งพระของพุทธศาสนานิกายเซนนั้น
ได้ใช้การกวาดลวดลายเป็นการฝึกฝน และการฝึกสมาธิ
ซึ่งการที่จะกวาดเส้นและลวดลายอย่างสมบูรณ์แบบนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

หัวใจของสวนเซน 
นั้นคือ การเข้าใจถึงแก่นแท้ขององค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ ในองค์ประกอบต่างๆของสวน
กุญแจสำคัญ ในการออกแบบสวนเซน คือ ความเรียบง่ายความคิดที่จะชื่นชมธรรมชาติอันแท้จริง
การออกแบบที่เรียบง่าย มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้จิตใจสงบ
และนำพาความวุ่นวาย ความกังวลในจิตใจออกไป


Chaniwa (สวนน้ำชา)
เอกลักษณ์โดดเด่นอีกสิ่งหนึ่งของสวนญี่ปุ่น นั้นก็คือ สวนน้ำชา
สวนน้ำชา จะมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีชงชา (ซะโด หรือ ชะโด (茶道 : sadō หรือ chadō)
โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้มีการแยกห้องชงชา ออกจากตัวบ้านมาไว้ในสวน
Chaniwa จึงเป็นสวนที่อยู่ติดกับห้องพิธีชงชา
รูปแบบของสวน Chaniwa จะมีความถ่อมตัว มีความเรียบง่าย และเป็นธรรมชาติ
สวนChaniwa มีแนวคิดที่ลึกซึ้ง ในการจัดระเบียบของจิตวิญญาณ
เพื่อทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
โดยพิธีชงชา จะเริ่มจากการเชิญแขกเข้าสู่ห้องชงชา ซึ่งจะต้องเดินผ่านสวนน้ำชา(Chaniwa)
การเดินผ่านสวนนี้จะต้องมีสติ และสมาธิ ต้องระมัดระวังไม่ให้เหยียบย่ำไปบนมอสส์ อันบอบบาง
หยุดเดินเพื่อพินิจพิจารณา จังหวะการกระดกของกระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ
เมื่อได้เดินผ่านสวนจนมาถึงห้องชงชา คนผู้นั้นก็จะมีสติ และ มีสมาธิ อย่างเต็มเปี่ยม
หลังจากนั้นก็จะทำการล้างมือ ล้างปาก ทำตัวให้บริสุทธิ์
และ คลานผ่านทางเข้าเล็ก ๆ ที่ต้องคลานเข้าไป
เป็นการแสดงว่าทุกคนเสมอภาค และเป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน


- การออกแบบจัดสวนของชาวญี่ปุ่น เคารพ และ เข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ผสมผสานปรัชญาของศาสนา และ แนวความคิดอันละเอียดอ่อน และมีความหมาย
สวนของญี่ปุ่น เป็นพื้นที่ ที่แสดงให้เห็นถึง ความละเอียดอ่อนของชาวญี่ปุ่น
เป็นความละเอียดอ่อน ที่มีความสุนทรีย์ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน

About the Author:
Pramote Patana :Creator of the work.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น